วูฟเฟร่ย์

Domaine Champalou Vouvray 2013 เป็นไวน์ที่ร้านอาหารCoté Courแนะนำครับ วูฟเฟร่ย์คือเชอนา บลองและเชอนา บลองคือวูฟเฟร่ย์เป็นคำสรุปที่ดี ถ้าต้องเลือกว่าที่ไหนในลัวร์(หรือทั้งฝรั่งเศส)ที่ทำไวน์จากองุ่นเชอนา บลองได้ดีที่สุดคำตอบคือวูฟเฟร่ย์ หมู่บ้านเล็กๆไม่ไกลจากเมืองตูร์ ลักษณะเด่นของวูฟเฟร่ย์มีดังนี้ -ไวน์วูฟเฟร่ย์มี่ทั้งไวน์ขาวธรรมดา,ไวน์อมหวาน,ไวน์หวานและไวน์ฟอง ควรอ่านฉลากก่อนสั่ง : ) ส่วนตัวผมชอบไวน์อมหวานของวูฟเฟร่ย์ มันสดชื่น ไม่หวานจนเกินไป เข้ากับอาหารได้หลากหลายมาก เคยบอกคนรู้จักให้ลอง คิดเสียว่าเรายังดื่มน้ำอัดลมกับอาหาร อันนี้หวานน้อยกว่าตั้งเยอะ แล้วเค้าก็ชอบครับ -เซลล่าร์ริ่ง(นึกคำอื่นไม่ออก รบกวนแนะนำด้วยครับ) วูฟเฟร่ย์สามารถเก็บได้นานมากอย่างไม่น่าเชื่อ วินเทจเก่าที่สุดที่เคยลองคือ1961 ผมว่านี่ก็เก่ามากแล้ว เหนือฟ้ายังมีฟ้าเมื่อมีนักจารณ์ไวน์ในลอนดอนเขียนถึงวินเทจ1919ของโดเมนฮูเอท์ อายุเกือบร้อยปี เป็นตัวอย่างที่ดีว่าวูฟเฟร่ย์สามารถเอาเข้าเซลล่าร์ได้ นอกเรื่องนิดนึงพูดถึงไวน์เก่า เคยไปร้านอาหารในปารีสร้านนึง ในไวน์ลิสเขามีไวน์ลัวร์เก่าๆอายุหลายสิบปีทั้งขาวและแดง ราคาสมเหตุสมผล ถ้าสนใจรายละเอียดแจ้งได้เลยครับ

ชิมไวน์แคว้นลัวร์

ชิมไวน์แคว้นลัวร์ ได้มีโอกาสไปชิมไวน์ลัวร์ ขออนุญาติเล่าสิ่งที่ได้ไปเห็นและชิมมาครับ นอกจากเป็นชื่อของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในฝรั่งเศส ลัวร์ยังเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่สำคัญอีกด้วย แคว้นลัวร์ผลิตไวน์มากเป็นอันดับสามของประเทศและมีไวน์หลากหลายทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไวน์ขาว,ไวน์แดง,โรเซ่,ไวน์ฟอง,ไวน์กึ่งหวานและไวน์หวาน พันธุ์องุ่นหลักๆคือ โซวิญญอง บลอง,เชอนา บลอง,มุสกาเดท์,กาแบร์กเน ฟรอง,ปิโน นัวร์และกาเมย์ นอกจากไวน์ แถบนี้ยังเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวชั้นดี ชาโตสวยๆเยอะจนเลือกไม่ถูก สวนดอกไม้,สวนสัตว์อันดับต้นๆของประเทศ และถ้ายอมขับรถหน่อย ก็จะมีธีมปาร์กอันดับต้นๆของยุโรปรออยู่ ข้อมูลนี้ให้ไว้เพราะอาจจะช่วยให้เพื่อนร่วมทางหรือสมาชิกครอบครัวที่ไม่อินเรื่องไวน์ตัดสินใจง่ายขึ้น   ไวน์ที่ได้ลอง Domaine Les Chantalouettes ,Pouilly-Fume 2014(ขออภัยไม่มีรูป) Domaine des Corbillieres Touraine Oisly 2014 สองตัวนี้กินที่ร้าน La Trouvaille อยุ๋ ชานเมืองบลัวส์เจ้าของรู้เรื่องไวน์และคัดเลือกมาดีครับ   ต่อเรื่องไวน์ เขตผลิตไวน์ที่ชื่อคุ้นหูหน่อยคงหนีไม่พ้นซองแซร์กับปุยญี-ฟูเม่ รองลงมาก็เป็นวูฟเฟร่ย์,อองจู,ชินง, โซเมอร์-ชงปิญญีฯลฯ ปุยญี-ฟูเม่ ปุยญี-ฟูเม่อยู่ทางตะวันออกของแคว้นลัวร์ จากซองแซร์ขับรถข้ามแม่น้ำสัก 15นาทีก็จะถึงปุยญี-ฟูเม่ ทั้งสองเขตปลูกโซวินยอง บลองค์เหมือนกัน แต่ปุยญี-ฟูเม่มีขนาดแค่ครึ่งของซองแซร์เท่านั้น จุดเด่นของไวน์ปุยญี-ฟูเม่โดยเฉพาะตัวดีๆคือบูเคท์กลิ่นเขม่าควัน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อไวน์ (ฟูเม่=smoke) เท่าที่ผมสังเกตุกลิ่นจะชัดในไวน์ของโปรดิวเซอร์คุณภาพ ในขณะที่บางตัวแทบแยกไม่ออกจากซองแซร์…

การดีแคนท์ไวน์ขาวใหม่ๆ

การดีแคนท์ไวน์ขาวใหม่ๆ ปกติเราดีแคนท์ไวน์เพื่อวัตถุประสงค์สองอย่าง หนึ่งเพื่อแยกตะกอนออกจากน้ำไวน์ ไวน์แดงบางประเภทเช่นบอร์กโดจะมีตะกอนเมื่อมีอายุระดับหนึ่ง การที่น้ำไวน์ถูกเทแยกไปในดีแคนเตอร์ช่วยให้เราสามารถดื่มได้จนแก้วสุดท้ายโดยไม่มีตะกอนมากวนใจ วัตถุประสงค์ที่สองของการดีแคนท์คือเพื่อให้ไวน์เปิด ไวน์อายุน้อยๆบางประเภทเมื่อดื่มกลับพบว่าไม่มีรสและกลิ่นอย่างที่มันควรจะเป็น หรือที่เรียกว่าไวน์มันปิด การทำให้ไวน์สัมผัสอากาศผ่านการเทใส่ดีแคนเตอร์ซึ่งมีพื้นที่ผิวกว้าง ช่วยให้ไวน์มีกลิ่นรสมากขึ้น หรือที่เรียกว่าไวน์เปิด สิ่งที่บางคนไม่ทราบคือนอกจากไวน์แดงหนุ่มๆแล้ว ไวน์ขาวอายุน้อยบางชนิดก็ได้ประโยชน์จากการดีแคนท์โดยเฉพาะไวน์ขาวที่ปกติต้องเก็บนานถึงจะพร้อมเช่นเบอร์กันดีขาว ยกตัวอย่างเช่นเรามีเมอร์โซ เพรอะเมียร์ครูอายุสองปี มีเหตุให้ต้องดื่มเลยไม่สามารถรอได้ ลองชิมแล้วไวน์มันปิด กรณีนี้การดีแคนท์อาจช่วยได้ วินเทจเชมแปญอายุน้อยก็เช่นกัน เราสามารถดีแคนท์เพื่อช่วยในด้านกลิ่นรสให้เปิดมากขึ้น ข้อเสียคือฟองจะหายไปพอสมควรหลังการดีแคนท์ ได้อย่างเสียอย่างครับ จากที่ผมสังเกตุถึงแม้ว่าไวน์ขาวอายุน้อยจะได้ประโยชน์จากการถูกดีแคนท์ แต่ก้มีบ้างที่ดีแคนท์แล้วก็ไม่ช่วยเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปได้รอให้พร้อมตามธรรมชาติครับ ใช้เวลาหน่อยแต่เราจะได้รสชาติของไวน์อย่างเต็มที่ กล่าวโดยสรุป ถ้ารอได้ ควรรอให้ไวน์ถึงอายุพร้อมดื่มด้วยตัวมันเอง เวลาเป็นเพื่อนของไฟน์ไวน์ ถ้ามีเหตุให้ต้องเปิด ชิมก่อน ดูว่าไวน์ปิดหรือไม่ บางโปรดิวเซอร์ทำไวน์แบบพร้อมดื่มเร็ว ถ้าไวน์เปิดกลิ่นรสมาครบการดีแคนท์ก็ไม่จำเป็น ถ้าไวน์ปิด ลองดีแคนท์เพื่อให้กลิ่นรสเปิดมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่ดีแคนท์แล้วก็ไม่ช่วยเท่าไหร่ ยินดีพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการครับ : )

เลือกไวน์ให้ถูกปาก

เลือกไวน์ให้ถูกปากต้องรู้สองอย่าง หนึ่งรู้ว่าเราชอบไม่ชอบไวน์สไตล์ไหน สองรู้สไตล์ของโปรดิวเซอร์เมื่อรู้สองอย่างนี้แล้วก็ลดความเสี่ยงลงไปได้และเพิ่มโอกาสการได้ไวน์ถูกปาก การหาข้อมูลของโปรดิวเซอร์สามารถทำได้ดังนี้ -ลองด้วยตัวเอง การได้ชิมด้วยตัวเอง กิจกรรมงานไวน์เทสต์ติ้ง ไวน์ดินเนอร์เป็นโอกาศที่จะได้ลองโปรดิวเซอร์ที่เราสนใจ ปัจจุบันเริ่มเห็นการใช้Wine Preservation Systemมากขึ้น หนึ่งในข้อดีคือเราสามารถลองไวน์เกรดดีๆเป็นแก้วหรือเป็นคำได้โดยไม่ต้องสั่งทั้งขวด บางร้านมีเครื่องพวกนี้หลายเครื่องจึงมีไวน์ให้ชิมเยอะถึง40ชนิด -อ่าน การหาข้อมูลสไตล์ของไวน์จากหนังสือ เวปไซต์และสังคมออนไลน์ จะช่วยให้เราได้ภาพว่าน่าจะเป็นไวน์เนวไหน ถ้าเป็นภาษาอังกฤษแนะนำให้สังเกตุคำสำคัญเช่น rich,elegant,pure,powerful,lively,austere etc คำพวกนี้มักจะบ่งบอกถึงสไตล์ได้เป็นอย่างดี 1.การหาข้อมูลและ2.นำมาเปรียบเทียบกับประสบการณ์จริง การทำซ้ำสองอย่างนี้ไปเรื่อยๆจะช่วยเพิ่มคลังความรู้ และหวังว่าเมื่อถึงจุดนึงเราสามารถตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ ตีวงให้แคบลง โดยการอ่านคำสำคัญเพียงไม่กี่คำ หมายเหตุ –ข้อความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับคนอื่น -หลายอย่างที่เกี่ยวกับไวน์มีคำตอบมากกว่าหนึ่ง หลายอย่างมีข้อยกเว้นซึ่งยากต่อการฟันธงสรุปว่าคำตอบเดียวใช้ได้กับทุกเรื่องทุกคน -ไวน์เป็นความชอบส่วนบุคคล สิ่งที่คนอื่นชอบอาจไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ การอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งอื่นเป็นเรื่องที่ดี สุดท้ายแล้วเราควรใช้วิจารณญาณในการเลือกไวน์ด้วบตนเอง

ท่องไว้โปรดิวเซอร์,โปรดิวเซอร์,โปรดิวเซอร์

ถ้าต้องเลือกว่าปัจจัยอะไรสำคัญที่สุดในการเลือกไวน์ แนะนำให้ดูว่าไวน์ขวดนั้นใครเป็นคนทำ หลายท่านอาจจะทักท้วงว่าแล้วอย่างอื่นไม่สำคัญเหรอ วินเทจล่ะ,เขตที่ผลิตและอื่นๆ สำคัญครับแต่เหตุผลที่ให้น้ำหนักโปรดิวเซอร์มากที่สุดมีดังนี้ -กลิ่นและรส ไวน์เป็นของเข้าปาก เพราะฉะนั้นรสชาติเป็นเรื่องใหญ่ อย่าคิดว่าขอให้มาจากเขตนี้นี้นี้ หยิบมาสักขวดเหอะ ไม่น่าหนีกันเท่าไหร่ ความจริงคือไวน์จากเขตเดียวกัน ปีเดียวกัน แต่โปรดิวเซอร์สองรายอาจจะทำรสชาติแตกต่างไปคนละแนว ยกตัวอย่างGevrey-Chambertinจะมีทั้งแบบค่อนข้างเข้ม ออกหวานฉ่ำโอ้กเยอะ ไปจนถึง เบาพริ้วไม่หวานมาก มิเนอรัลเยอะถ้าเราดูแต่เขตอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงสไตล์ของโปรดิวเซอร์ก็มีโอกาสผิดหวังได้ -วินเทจ แน่นอนว่าปีที่ดีย่อมให้องุ่นที่สมบูรณ์กว่า เมื่อมีวัตถุดิบคุณภาพเยี่ยมก็มีโอกาสที่จะทำไวน์คุณภาพสูงกว่าปีอื่น วินเทจชั้นเยี่ยมอย่างเช่น 2010,2009,2005ล้วนแต่เป็นที่สนใจของคนรักไวน์ แต่ไม่ว่าจะปีไหนโปรดิวเซอร์ก็ยังจะทำไวน์ในแนวทางของตัวเองออกมา อีกเหตุผลหนึ่งคือช่องว่างคุณภาพระหว่างวินเทจดีกับวินเทจปกติลดลงมาก เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ยิ่งโปรดิวเซอร์ที่เน้นคุณภาพจะเห็นจุดนี้ค่อนข้างชัด ความเห็นส่วนตัวหลายหลายครั้งผมประทับใจกับไวน์จากปีที่งั้นงั้น ไวน์พวกนี้จะมีเสน่ห์ไปอีกแบบ,เข้าถึงง่ายและพร้อมดื่มเร็วโดยเฉพาะจากโปรดิวเซอร์ที่รู้จักและเชื่อมือ -ระดับของไวน์ บางท่านเข้าใจว่าขอให้เป็นGrand Cruซื้อได้เลย ควรจะอร่อยหมด คำถามคือ จริงหรือ? ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดคือClos Vougeot Grand Cruซึ่งเล็กกว่าบางชาโตในบอร์กโดอีก มีผู้ถือครองที่ดินอยู่80รายซึ่งคุณภาพก็หลากหลาย มีตั้งแต่สุดยอดจนถึงอยากขอเงินคืน และเหตุผลนี้ก็ใช้ได้กับไวน์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นVillage,Premier Cru หรือGrand Cruจะมีทั้งโปรดิวเซอร์ขั้นเทพและโปรดิวเซอร์มือไม่ถึง ซึ่งท่านควรพุ่งเป้าไปที่กลุ่มแรกและหลีกเลี่ยงกลุ่มหลัง ที่น่าสนใจคือไวน์ระดับกลาง/ล่างของโปรดิวเซอร์ชั้นดีสามารถชกข้ามรุ่นเทียบกับไวน์เกรดสูงกว่าได้ ตัวอย่างเช่นบูกอนณ์ บลองของแอเตียน โซเซสามารถประกบกับปูลิญยี่-มงฮราเชวิลลาจของโปรดิวเซอร์ธรรมดาได้อย่างไม่ขัดเขินนัก ท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเทคนิกการซื้อไวน์อย่างชาญฉลาดและคุ้มค่าเงิน โดยการเน้นที่โปรดิวเซอร์คุณภาพทำไวน์ในสไตล์ที่ชอบแล้วไม่จำเป็นต้องซื้อไวน์ตัวสูงสุด ลองตัวรองรองลงมาก็จะได้ไวน์ดีคุ้มค่าเงินครับ…